ศูนย์สอบเทียบดนตรีแห่งประเทศไทย (TIME) คืออะไร 

ศูนย์สอบเทียบดนตรีแห่งประเทศไทย หรือ Thailand International Music Examination (TIME) จัดตั้งขึ้นโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อวัตถุประสงค์ในการยกระดับมาตรฐานการศึกษาวิชาดนตรีให้กับประเทศไทยและอุษาคเนย์ ในปัจจุบันมีนักเรียนที่เรียนดนตรีในระบบการศึกษาพื้นฐานจำนวนกว่า 10 ล้านคน และผู้ที่เรียนในโรงเรียนสอนดนตรีพิเศษประเภท 15(2) อีกกว่า 45,000 คน  หรือแม้กระทั่งผู้ที่เรียนดนตรีกับครูส่วนตัวที่บ้าน ขาดโอกาสการวัดและประเมินผลการเรียนที่เป็นมาตรฐานอย่างเป็นระบบ เพราะไม่มีองค์กรหรือสถาบันดนตรีใดๆ ที่ได้มาตรฐานทั้งของภาครัฐและเอกชนที่เข้ามาจัดระบบสอบวัดระดับความสามารถให้กับผู้เรียน จึงส่งผลให้ผู้เรียนไม่ทราบถึงพัฒนาการและระดับชั้นเรียนที่แท้จริงของตนเอง ไม่สามารถพัฒนาความรู้และศักยภาพทางดนตรีได้อย่างถูกทิศทางที่ควรจะเป็น ศูนย์สอบเทียบดนตรีแห่งประเทศไทยจะทำให้ผู้สอน และผู้เรียนทราบระดับมาตรฐานของตนเอง กระตุ้นให้ฝึกหัด และเรียนรู้อย่างถูกต้อง

 

สอบวัดระดับกับสถาบันทางดนตรีต่างประเทศไม่ได้หรือ

ถึงแม้ว่าจะมีสถาบันสอบวัดระดับความสามารถทางดนตรีจากต่างประเทศหลายๆ สถาบันเข้ามาเปิดสอบวัดระดับความสามารถให้กับนักเรียนดนตรีในประเทศไทย แต่ก็ไม่สามารถตรวจสอบระดับคุณภาพและมาตรฐานของการสอบได้ หลายๆ ครั้งผู้สอบไม่สามารถนำผลคะแนนสอบไปใช้ยืนยันความสามารถเพื่อสมัครเข้าศึกษาต่อได้ นอกจากนั้น การสอบวัดระดับกับสถาบันต่างชาติยังมีค่าธรรมเนียมการสมัครสอบในอัตราที่ค่อนข้างสูง

 

ใครจะเป็นกรรมการสอบ

การจัดการสอบวัดระดับคุณภาพทางดนตรีที่ผ่านมากรรมการสอบไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางของสาขาวิชาโดยตรง ตัวอย่างเช่น กรรมการสอบ 1 ท่านทำการสอบในทุกวิชา ทุกเครื่องมือตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงระดับสูง ซึ่งผิดจากความเป็นจริงที่ไม่มีนักดนตรีคนใดจะมีความสามารถในการประเมินผลความสามารถในทุกระดับและทุกเครื่องมือ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการแปลผลและการตีความของการสอบและมีความเชื่อที่ไม่สามารถนำไปใช้ได้ แต่สำหรับศูนย์สอบเทียบดนตรีแห่งประเทศไทย (TIME) เป็นศูนย์สอบที่มีการวัดผลทางดนตรีที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรรมการสอบในแต่ละสาขาวิชาเป็นผู้เชี่ยวชาญที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาขั้นสูงในวิชาดนตรีโดยตรง และมีคุณสมบัติในการทดสอบความสามารถทางดนตรีในวิชาดนตรีในวิชาที่กรรมการมีความเชี่ยวชาญเท่านั้น

 

สอบไปแล้วได้อะไร

ผู้สอบผ่านจะได้ใบประกาศนียบัตรรับรองผลการสอบ ทั้งสอบภาคปฏิบัติและทฤษฎี เพื่อเป็นการเชิดชูการฝึกฝนอย่างหนักของผู้สมัครที่ได้ผลการสอบดีเด่น ศูนย์สอบเทียบวัดระดับความสามารถทางดนตรีแห่งประเทศไทย มีเหรียญรางวัลเกียรตินิยมมอบให้เพื่อเชิดชูความสามารถ จึงทำให้เกิดความคึกคักในวงการศึกษาดนตรีทั้งในส่วนผู้เรียนและผู้สอน นอกจากนี้ สำหรับครูผู้สอนดนตรีปฏิบัติ ศูนย์สอบเทียบดนตรีแห่งประเทศไทยจะจัดการสัมมนาการพัฒนาวิชาชีพครู มุ่งพัฒนาความเป็นมืออาชีพของผู้สอน เน้นในประเด็นสำคัญทั้งนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์ในการเรียนการสอน การสาธิตการสอน การประชุมเชิงปฏิบัติการและการอภิปรายในหัวข้อการสอนและวิชาชีพเฉพาะ

 

ใช้ผลสอบสมัครสอบเข้าเรียนต่อที่ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์  ม.มหิดลได้ 

 ศูนย์สอบเทียบดนตรีแห่งประเทศไทย (TIME) จะเป็นส่วนหนึ่งของระบบการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาต่อ(Admission) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งในระดับเตรียมอุดมดนตรีและระดับปริญญาตรี โดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์กำหนดให้ผู้ที่สอบผ่าน(ตามระดับที่กำหนด)สามารถนำผลสอบไปใช้เป็นหลักฐานการสมัครสอบ โดยผู้สมัครไม่ต้องสอบวิชานั้นๆอีก (เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 สำหรับวิชาทฤษฎีดนตรีและวิชาปฏิบัติเครื่องดนตรีจะเริ่มในปี 2557)

 

ความภาคภูมิใจในระดับประเทศ – ขยายสู่ระดับภูมิภาค

เป็นศูนย์สอบดนตรีแห่งแรกที่มีหลักสูตรวิชาดนตรีไทย และดนตรีพื้นบ้าน เพื่อยกระดับการศึกษาให้เทียบเท่ากับดนตรีตะวันตก ในส่วนของดนตรีตะวันตก ศูนย์สอบเทียบดนตรีแห่งประเทศไทย จะเป็นศูนย์สอบเทียบระดับมาตรฐานแห่งแรกที่เริ่มดำเนินการโดยสถาบันการศึกษาทางดนตรีในประเทศไทย  ในอนาคต ในศูนย์ฯ ยังมีโครงการที่จะขยายต่อไปในระดับภูมิภาคอีกด้วย การสอบเทียบมาตรฐานทางดนตรีจะช่วยยกระดับฐานะของวิชาดนตรีให้เป็นที่ยอมรับของสังคม และมีมาตรฐานสู่สากลต่อไป